อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
“ไออาร์พีซีมุ่งมั่นรักษาคุณภาพการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเพื่อคงความปลอดภัยของพนักงานและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียง”
เป้าหมาย:ลดอัตราการบาดเจ็บจากการทำงาน (Total Recordable Injury Rate: TRIR) ลงเป็น 0.30 ภายในปี 2568 |
ผลการดำเนินงาน:0.36 |
Process Safety Event (PSE) Tier 1,2 = 0 |
0 |
อาชีวอนามัยและความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ไออาร์พีซีให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ เนื่องจากเป็นประเด็นที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบร้ายแรงที่นำไปสู่การเสียชีวิตในพื้นที่ปฏิบัติงาน มาตรการด้านความปลอดภัยที่ไม่เพียงพออาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของพนักงานและสิทธิมนุษยชนของพนักงานและผู้รับเหมา นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างออกไปสู่นอกพื้นที่ปฏิบัติงานทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เช่น การรั่วไหลของสารเคมี อุบัติเหตุ เป็นต้น ดังนั้น ไออาร์พีซีจึงมุ่งมั่นรักษาคุณภาพการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเพื่อคงความปลอดภัยของพนักงานและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียง
เพื่อสนับสนุนความมุ่งมั่นของบริษัทในการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขภาวะ ไออาร์พีซีได้นำระบบบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Occupational Health and Safety Management System: OHSMS) และระบบการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Operational Excellence Management System: OEMS) มาใช้เพื่อให้มั่นใจว่า การดำเนินงานของบริษัทสอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเป็นไปตามมาตรฐานและแนวทางของระบบการจัดการความเสี่ยงและการบริหารจัดการที่เป็นที่ยอมรับ เช่น TIS18001:2554, ISO45001 :2018 เป็นต้น
ขอบเขตของ OHSMS ครอบคลุมพนักงานและผู้รับเหมาทุกคนที่บริษัทมีอำนาจควมคุมทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งรวมไปถึงพนักงาน ผู้รับเหมา และผู้รับเหมาช่วงที่ปฏิบัติงานภายในและภายนอกสถานที่ บริษัทมีการกำหนดระเบียบและคู่มือการปฏิบัติงานที่ชัดเจนเพื่อให้มั่นใจว่าทุกกิจกรรมของบริษัทดำเนินการได้สอดคล้องกับ OHSMS เพื่อลดความเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากขอบเขตของ OHSMS จะได้รับการประเมินอย่างถี่ถ้วนก่อนดำเนินการเพื่อรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของบริษัทฯ
ไออาร์พีซีกำหนดแนวทางการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและความตระหนักของพนักงานและผู้รับเหมา โดยการเชื่อมโยงเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับการพัฒนากระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงข้อมูล และยกระดับการประมวลผลที่ได้จากการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับสามารถนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินการได้อย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศการทำงานผ่านการถ่ายทอดและแบ่งปันองค์ความรู้ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ทำให้เกิดวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยที่ดีในองค์กร อีกทั้งยังดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาเสถียรภาพของอุปกรณ์ในกระบวนการผลิต เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการเป็นสถานประกอบการที่มีความเป็นเลิศด้านความปลอดภัย
เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ที่จะมุ่งสู่ความเป็นเลิศในปี 2568 โดยมีเป้าหมายหลักในการลดอัตราการบาดเจ็บจากการทำงานลงเป็น 0.30 บริษัทจึงกำหนดกลยุทธ์ด้านความปลอดภัยที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างความปลอดภัยและสุขภาพภายในองค์กร กลยุทธ์นี้มีความสอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมและการปฏิบัติการสู่ความเป็นเลิศ (Innovation and Operational Excellence (IOE) Strategic Framework) ปี 2563-2568 ซึ่งประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ 1) การบริหารจัดการความปลอดภัยของกระบวนการผลิต (Process Safety Management) 2) การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสู่ความเป็นเลิศ (Safety Excellence) 3) การเสริมสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัย (Safety Culture) และ 4) ความพร้อมด้านสุขภาพในการปฏิบัติงาน (Health Management)
ไออาร์พีซี กำหนดหลักการบริหารจัดการแบบ “Role Model” ในการขับเคลื่อนองค์กร และจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยมีผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ระดับรองประธานกรรมการบริษัทขึ้นไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการร่วมกับคณะทำงานซึ่งเป็นตัวแทนพนักงานที่มาจากการเลือกตั้งในองค์กร ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัยขององค์กร นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังมีหน้าที่ในการควบคุม และตรวจสอบผลการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการปรับปรุงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องตามมาตรฐานสากล
ไออาร์พีซีให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในทุกด้านตั้งแต่ความปลอดภัยส่วนบุคคล ความปลอดภัยในกระบวนการทำงาน และความปลอดภัยในการขนส่ง บริษัทฯ ดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสูงเพื่อมุ่งสู่สถานประกอบการที่มีอุบัติเหตุเป็นศูนย์และมีวัฒนธรรมความปลอดภัยที่แข็งแกร่งสำหรับพนักงานและคู่ค้า มุ่งมั่นของบริษัทฯ ยังครอบคลุมไปถึงการบูรณาการความปลอดภัยสู่ทุกกระบวนการดำเนินงาน การตั้งเป้าหมายอุบัติเหตุและสถานการณ์ฉุกเฉินในพนักงานและผู้รับเหมาเป็นศูนย์ และยังขยายขอบเขตความมุ่งมั่นสู่คู่ค้าโดยรวมประเด็นอาชีวอนามัยและความปลอดภัยไว้ในจรรยาบรรณธุรกิจของคู่ค้า นอกจากนี้ ไออาร์พีซีได้จัดทำคู่มือปฏิบัติงาน (Procedure Manual) การสั่งหยุดงาน หากไม่ปลอดภัย (Stop Work if Unsafe) ที่พนักงานสามารถหยุดทำงานทันที เมื่อพบว่ามีสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยหรือมีความเสี่ยงที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงการออกจากสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัยโดยไม่มีความผิด
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของไออาร์พีซี สามารถศึกษาได้จาก IRPC Health Risk Assessment Procedure Manual [link]
คุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และการจัดการด้านพลังงาน เป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของไออาร์พีซี โดยผู้บริหารทุกระดับต้องเป็นตัวอย่างที่ดี มีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมให้ผลการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับจุดมุ่งหมายและเป้าหมายขององค์กร และสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน โดยจะต้องรับทราบ เข้าใจ และปฏิบัติตามนโยบายขององค์กรอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องในทุก ๆ ขั้นตอน โดยนโยบายการบริหารจัดการดังกล่าวได้ดำเนินการภายใต้กรอบของระบบการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Operational Excellence Management System: OEMS)
นโยบายคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และการจัดการด้านพลังงาน [link]
ไออาร์พีซีได้จัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Safety Occupational Health Committee: SHE) ประกอบไปด้วยตัวแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างจำนวนเท่ากัน โดยมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยวิชาชีพเป็นเลขานุการ คณะกรรมการความปลอดภัยฯ ทำหน้าที่พิจารณานโยบาย และแผนงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน มีส่วนร่วมในการประเมินและระบุความเสี่ยง สนับสนุนกิจกรรม ส่งเสริมความปลอดภัยอื่น ๆ รวมถึงติดตามผลการดำเนินงานพร้อมเสนอแนะมาตรการป้องกันและแก้ไขผ่านการประชุมเป็นประจำทุกเดือน และยังได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหาร ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (IRPC Management Safety & Occupational Health Committee: MANSAFCOM) คณะกรรมการบริหารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานระดับฝ่าย (Department Safety Committee: DEP.SC) เพื่อให้การบริหารการจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพทั้งองค์กร
ไออาร์พีซีมีระบบการจัดการและบูรณาการฐานข้อมูล (Integrated Database Management System) เพื่อรวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในโรงงาน ทำให้องค์กรสามารถวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ระบุอันตราย และประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้ ระบบดังกล่าวยังช่วยในการกำหนดมาตรการแก้ไขตามลำดับชั้นของการควบคุมอันตรายและระบุแนวทางในการพัฒนาระบบบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอีกด้วย
นอกจากนี้ ไออาร์พีซี ได้นำระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management: PSM) มาประยุกต์ใช้ในการประเมินความเสี่ยงในโรงงานตามมาตรฐาน TIS/OHSAS 18001 สำหรับการปฏิบัติงานในทุกขั้นตอน ทำให้ไออาร์พีซีสามารถรักษาสถิติด้านความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไออาร์พีซีได้จัดให้มีผู้ตรวจประเมินระบบ PSM ภายในองค์กรโดยการฝึกอบรมผู้ตรวจประเมินภายในองค์กรเพื่อทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำงานอย่างปลอดภัย ซึ่งผลที่ได้จากการตรวจประเมินจะได้รับการวิเคราะห์เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาการดำเนินการประกอบกับการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขเพื่อการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในอนาคต
การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสู่ความเป็นเลิศ (SHE Excellence)
โครงการการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสู่ความเป็นเลิศช่วยเสริมสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัย ส่งเสริมความเป็นผู้นำด้านความปลอดภัย และการฝึกอบรมพนักงานให้ช่วยเหลือและตักเตือนเกี่ยวกับความปลอดภัยกับเพื่อนร่วมงาน ไออาร์พีซีประเมินประสิทธิผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัย (Safety Excellence Assessment) เพื่อทบทวนและพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ส่งเสริมการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยขององค์กร ในปี 2563 ไออาร์พีซีได้กำหนดการให้รางวัลอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสู่ความเป็นเลิศ (SHE Excellence Award) ซึ่งมีการพิจารณาแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ Bronze, Silver, Gold, Platinum และ Diamond
การเสริมสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัย (Safety Culture)
ไออาร์พีซีเสริมสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยโดยการกำหนดนโยบายและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การบริหารพฤติกรรมด้านความปลอดภัย (Behavior Safety Management: BSM) ซึ่งเป็นโครงการที่กระตุ้นให้พนักงานมีส่วนร่วมในการรายงานสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัยและพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงหรือไม่ปลอดภัยภายในองค์กร รวมถึงแนะนำแนวทางในปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ตัวอย่างโครงการเสริมสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยอื่น ๆ เช่น โครงการ Goal Zero Accident ที่นำโดยฝ่ายบริหารคุณภาพ ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย ที่มีการรณรงค์การสร้างวัฒนธรรมการทำงานอย่างปลอดภัยทั่วทุกพื้นที่ปฏิบัติงาน
ไออาร์พีซีได้จัดอบรมด้านความปลอดภัยให้แก่พนักงาน ผู้รับเหมา และคนงานทุกคน โดยกำหนดแนวทางให้ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติต่อผู้รับเหมาเช่นเดียวกับพนักงานของไออาร์พีซี และมีการแต่งตั้งหน่วยงานตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่มีการเกิดอุบัติเหตุไออาร์พีซีจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อระบุสาเหตุ ถอดบทเรียนจากกรณีการเกิดอุบัติเหตุเป็นความรู้ และถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้กับพนักงานเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำอีกในอนาคต อีกทั้ง ไออาร์พีซีมีการจัดทำและเผยแพร่วารสารที่มีการบันทีกรายละเอียดด้านความปลอดภัยอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ไออาร์พีซีจัดให้มีการประเมินผลต่อวัฒนธรรมด้านความปลอดภัย โดยให้พนักงานมีส่วนร่วมในการประเมินผ่านการตอบแบบสอบถามด้วยวิธีการสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ และตรวจสอบเอกสาร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยเชิงรุกซึ่งสามารถวัดผลได้ด้วยคะแนน SHE Culture Score ซึ่งมีคะแนนทั้งหมด 5 ระดับ ไออาร์พีซีระบุเป้าหมายระยะยาวในการบรรลุองค์กรที่มีพฤติกรรมเชิงสร้างสรรค์ด้านความปลอดภัยที่มี SHE Culture Score ที่ระดับ 4.20 ในปี 2568
นอกเหนือจากการมุ่งเน้นการดำเนินงานด้านความปลอดภัยแล้ว ไออาร์พีซียังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพของพนักงาน ด้วยเหตุนี้ ไออาร์พีซีจึงได้ดำเนินโครงการ “สุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่” (Good Health Starts Here) เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรมีวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง อาทิ การดูแลพนักงานที่มีค่าดัชนีมวลกาย (Body Max Index: BMI) เกินค่ามาตรฐาน โดยบริการอาหารที่มีคุณประโยชน์และดีต่อสุขภาพฟรีให้กับพนักงานในมื้อกลางวัน เช่น ผักปลอดสารพิษ และน้ำพริก เป็นต้น สนับสนุนให้จัดอาหารว่างเพื่อสุขภาพระหว่างการประชุม เช่น ผลไม้ เครื่องดื่มสมุนไพร เป็นต้น รวมถึงการสนับสนุนให้มีสถานที่และอุปกรณ์ออกกำลังกายสำหรับพนักงาน
ในปี 2563 ฝ่ายบริหารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของไออาร์พีซีได้จัดให้มีการกำหนดค่าดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพด้านสุขภาพ (Health Performance Indicator Score: HPI) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพด้านสุขภาพของพนักงานโดยการพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ทั้งนี้ ไออาร์พีซีได้ใช้ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพด้านสุขภาพเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของพนักงานในองค์กรผ่านการติดตามตรวจสอบ ฝึกอบรม และการรณรงค์ด้านสุขภาพที่ดีภายในองค์กร อาทิ มาตรการควบคุมสุขอนามัยและปัจจัยเสี่ยงในสถานที่ทำงาน การฝึกอบรมการปฐมพยาบาล การประเมินความพร้อมสำหรับการทำงาน และการเฝ้าระวังทางสุขภาพ
ไออาร์พีซีมีการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ในการรักษาสุขภาพและความปลอดภัยของบุคลากรทำให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายอัตราการเสียชีวิตเป็นศูนย์และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บในที่ทำงานลงได้
ตัวชี้วัดด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย |
2563 |
2564 |
2565 |
2566 |
ครอบคลุม ร้อยละ100 |
ครอบคลุม ร้อยละ100 |
ครอบคลุม ร้อยละ100 |
ครอบคลุม ร้อยละ100 |
|
อัตราการบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงาน (Lost-Time Injury Frequency Rate: LTIFR) (กรณี / ล้านชั่วโมงทำงาน) |
||||
พนักงาน |
0.09 |
0 |
0.1 |
0 |
ผู้รับเหมา |
0.29 |
0 |
0.3 |
0.07 |
อัตราความถี่ของการบาดเจ็บรวม (Total Recordable Injury Frequency Rate: TRIFR) (กรณี / ล้านชั่วโมงทำงาน) |
||||
พนักงาน |
0.36 |
0.1 |
0.1 |
0.1 |
ผู้รับเหมา |
0.43 |
0.14 |
0.42 |
0.5 |
การเสียชีวิตอันเนื่องมาจากการบาดเจ็บจากการทำงาน (Fatalities as a Result of Work-Related Injury) (คน) |
||||
พนักงาน |
0 |
0 |
0 |
0 |
ผู้รับเหมา |
0 |
0 |
0 |
0 |
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถเลือกตั้งคำยินยอมการใช้คุกกี้ได้โดยคลิก “การตั้งค่าคุกกี้” การตั้งค่าคุกกี้